1. ช่วยสานความสัมพันธ์ระหว่างลูกกับพ่อแม่
ช่วงเวลาแห่งการเข้าครัวและทำอาหาร ถือกิจกรรมที่ทำให้พ่อแม่ลูกได้ใช้เวลาร่วมกัน ได้พูดคุย และสอนให้ลูกพัฒนาทักษะหลายๆ ด้าน นอกจากจะทำให้ความสัมพันธ์แน่นแฟ้นขึ้นแล้ว การทำอาหารร่วมกันยังทำให้ลูกเห็นถึงความตั้งใจ ความพยายามของคุณพ่อคุณแม่ในการทำอาหารทุกจานเพื่อคนในครอบครัว
2. ทำให้ลูกอยากกินอาหารมากขึ้น
เมื่อลูกได้ลงมือหรือมีส่วนร่วมในการทำอาหาร ก็เป็นเรื่องธรรมดาที่เขาอยากจะกินอาหารที่มาจากฝีมือของตัวเอง ซึ่งนอกจากจะทำให้เด็กกินอาหารได้ดีขึ้นแล้ว ยังส่งผลให้ลูกเป็นคนกล้าลิ้มลองอาหารรสชาติแปลกใหม่ที่ไม่คุ้นชิ้นในอนาคตอีกด้วย
3. ช่วยสอนคณิตศาสตร์เล็กๆ น้อยๆ
การทำอาหารนั้นนอกจากเรื่องของรสชาติแล้ว ยังต้องเรียนรู้ตัวเลขต่างๆ อีกด้วย ไม่ว่าจะการตวงปริมาณของเครื่องปรุง ส่วนผสมต่างๆ การอบ การย่างต้องใช้อุณหภูมิเท่าไหร่ถึงจะเหมาะ หรือแม้แต่ขนาดของกระทะเท่านี้ กับขนาดนี้ต่างกันอย่างไร เด็กจะค่อยๆ ซึมซับเรื่องของคณิตศาสตร์ไปแบบทีละเล็กทีละน้อย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้ต่อไป
4. เพิ่มทักษะการใช้ชีวิต
สิ่งสำคัญอีกหนึ่งอย่างคือทักษะชีวิต เมื่อเวลาผ่านไปเมื่อลูกโตขึ้นและต้องอยู่ด้วยตัวเองมากขึ้น คุณพ่อคุณแม่จะไม่ต้องเป็นห่วงว่าลูกจะสามารถดูแลตัวเองได้ไหม จะทำอาหารกินเองได้หรือเปล่า เพราะการได้เข้าครัวบ่อยๆ แม้จะเป็นการมาช่วยคุณพ่อคุณแม่เล็กๆ น้อยๆ ก็มากพอที่จะทำให้ลูกซึมซับและเรียนรู้วิธีการทำอาหารด้วยตัวเองได้
5. เรียนรู้การกินอาหารที่ดี
แน่นอนว่าหากเด็กๆ ได้คลุกคลีกับการทำอาหารบ่อยเข้า พวกเขาจะเริ่มเข้าใจวัตถุดิบต่างๆ ว่าสิ่งนี้มีประโยชน์อย่างไร อาหารอะไรกินคู่กับอะไรถึงจะอร่อย และควรกินในปริมาณไหนถึงจะดีต่อร่างกาย เด็กที่เข้าครัวจึงมีแนวโน้มว่าจะกินอาหารที่ดีมีประโยชน์มากยิ่งขึ้นทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต