ผักนับเป็นอาหารที่มีประโยชน์และมีความจำเป็นอย่างมากต่อลูกน้อย เพราะผักเป็นแหล่งที่สำคัญของวิตามิน, เกลือแร่ และที่สำคัญคือเป็นแหล่งสำคัญของใยอาหารที่ช่วยในการขับถ่ายให้ลูกน้อยขับถ่ายได้สะดวก ไม่มีปัญหาท้องผูก แต่ปัญหาสำคัญที่ทำให้เด็กๆไม่ชอบการกินผักก็คือ รสชาติของผักที่อาจมีรสขม หรือลักษณะเป็นชิ้นแข็ง เคี้ยวได้ยาก เรามีเคล็ดลับง่ายๆที่จะช่วยให้ลูกน้อยสามารถทานผักได้มาฝากกันค่ะ
1. เริ่มฝึกแต่เนิ่นๆ เริ่มเตรียมผักใส่ไปในอาหารให้ลูกน้อยตั้งแต่มื้อแรกๆของชีวิต เมื่อคุณแม่เริ่มอาหารมื้อแรกให้ลูกน้อยตอนช่วงอายุประมาณ 4-6 เดือน คุณแม่สามารถเริ่มเตรียมเมนูจากผัก เช่น น้ำสต๊อกจากผักให้มีรสอ่อนๆของผัก หรือเลือกผักที่ไม่ค่อยมีรสชาติ เช่น ตำลึง ผักบุ้ง ผักกาดขาว มาต้มให้เปื่อยและบดละเอียดไปในอาหาร เพื่อให้ลูกน้อยคุ้นชินกับกลิ่นของผัก เมื่อลูกเริ่มโตขึ้นจึงเริ่มบดให้หยาบขึ้น แล้วค่อยเริ่มทานเป็นผักสด
2. กินผักอย่างสม่ำเสมอทุกวัน ควรเตรียมเมนูผักให้ลูกน้อยทุกวัน ค่อยๆเปลี่ยนชนิดไปเรื่อยๆ โดยพยายามเลือกผักที่ไม่ค่อยมีรสชาติและกลิ่นฉุนก่อน เมื่อลูกเริ่มทานได้ดีจึงค่อยๆเพิ่มชนิดผักอื่นๆเข้าไป
3. เลือกผักที่ทานง่าย ไม่มีกลิ่นฉุนหรือรสขมเกินไป ผักประเภทแรกๆ ที่ฝึกให้เด็กกิน ควรเป็นผักที่มีรสหวานตามธรรมชาติ เช่น ผักชนิดที่กินหัวหรือราก เช่น มันฝรั่ง แครอท มันเทศ ซึ่งเวลานำผักกลุ่มนี้มาบดให้ลูกกิน จะมีเนื้อละเอียดและกินได้ง่าย ฟักทอง ฟักเขียว น้ำเต้า แตงกวาแล้วค่อยเริ่มผักใบที่รสชาติดี กินง่าย เช่น ตำลึง ผักบุ้ง หรือผักใบเขียวอื่นๆ
4. ไม่บังคับลูกน้อย เมื่อลูกน้อยแสดงท่าทีไม่รับ หรือต่อต้าน ไม่ควรบังคับหรือพยายามดันช้อนเข้าไปในปาก แต่ควรใช้วิธีลดปริมาณผัก เพื่อให้รสชาติจางลง หลอกล่อให้ทานไปกับอาหารอย่างอื่น หรือเปลี่ยนชนิดของผักทานผักชนิดอื่นที่มีรสชาติอ่อนกว่าก่อน
5. ทานผักเป็นตัวอย่าง โดยเฉพาะเวลาที่ทานอาหารพร้อมกันทั้งครอบครัว ไม่ว่าจะเป็นในบ้านหรือนอกบ้าน ควรมีเมนูอาหารผัก บนโต๊ะอาหารทุกครั้ง เพื่อให้ลูกคุ้นชินกับการกินอาหารที่หลากหลาย
6. แปลงร่างผัก สาเหตุที่ลูกไม่กินผัก ก็มาจากเรื่องของความขมและกลิ่นของผักที่ไม่เหมือนอาหารทั่ว ๆ ไป ดังนั้นการแปลงรูปร่างของผัก หรือเพิ่มรสชาติเพื่อปรุงรสผักให้ทานได้ง่าย จะช่วยให้ลูกน้อยทานผักได้มากกว่าเดิม เช่น ทำซอสเพื่อให้ลูกจิ้ม เช่น ซอสมะเขือเทศ หรือมายองเนส หรือต้มผักให้นิ่มและทานคู่กับอาหารอื่น ๆ หรือเพิ่มความน่าสนใจและเพิ่มรสชาติผักให้ดีขึ้น เช่นการทำผักชุบแป้งทอด หรือการทำเมนูให้แปลกตา เช่น ซอยผักหรือหั่นเต๋าชิ้นเล็กๆ เช่น ผัดใส่ข้าว ใส่ไข่เจียว ผสมกับหมูบดทอด ชุบแป้งทอดจิ้มซอสมะเขือเทศ
7. ฝึกทานผักทีละชนิด คุณพ่อคุณแม่ไม่ควรคาดหวังหรือบังคับให้ลูกต้องทานผักได้ทุกชนิดตั้งแต่ยังอายุน้อย ควรค่อยๆฝึกไปทีละชนิด เลือกชนิดที่ทานได้ง่าย ไม่มีรสชาติขม ทานซ้ำๆ แต่ทานทุกวันให้เป็นกิจวัตรเพื่อให้เกิดความคุ้นชินกับผักและไม่เกิดความรู้สึกต่อต้านหรือโดนบังคับ
8. สร้างบรรยากาศให้มีแรงจูงใจ เช่น ใช้จานและช้อนลายน่ารักๆ หรือ เปิดการ์ตูนที่เกี่ยวกับการกินผักให้ลูกดูว่ากินผักแล้วจะแข็งแรงเหมือนในการ์ตูน ลูกก็จะอยากกินผักตาม
9. ให้ลูกมีส่วนช่วยทำกับข้าว ลองชวนลูกมาทำกับข้าวด้วยกัน เช่น ให้ลูกช่วยเลือกเมนูที่อยากทาน, พาลูกไปซื้อและเลือกผัก จากนั้นสอนให้ลูกรู้จักวิธีล้างผักและเตรียมผัก สอนให้ลูกรู้จักวิธีหั่นผักเป็นชิ้นเล็กๆ ให้ลูกได้เป็นคนใส่ผักลงหม้อหรือกระทะปรุงอาหารเอง เมื่อถึงเวลากินข้าวลูกจะรู้สึกภูมิใจที่เป็นคนได้ทำอาหารและจะรู้สึกอยากกิน
10. พยายามหลีกเลี่ยงการกินขนมหวาน เพราะขนมหวานมีรสชาติอร่อย ซึ่งจะทำให้ลูกน้อยปฏิเสธที่จะเริ่มทานอาหารชนิดอื่นๆได้
บทความจาก พญ.ปิยะรัตน์ เลิศบรรณพงษ์ กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ