บทความทั้งหมด
สำหรับเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี
สำหรับเด็กอายุ 3-6 ปี
สำหรับเด็กอายุ 7-12 ปี

เรื่องน่ารู้พัฒนาการที่สำคัญในแต่ละช่วงวัย

Post: 12 Feb 20 Time: 22:04 Views : 2,002

 พัฒนาการเด็กแต่ละช่วงวัยเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ปกครองไม่ควรละเลย ลูกน้อยที่ได้รับการส่งเสริมและกระตุ้นพัฒนาการอย่างเหมาะสมตามวัยของเขาโดยเฉพาะในช่วงสามปีแรก นั่นหมายถึงร่างกาย จิตใจ และสมองจะได้รับการพัฒนาไปพร้อมกัน ส่งผลดีต่อการเจริญเติบโตและการพัฒนาศักยภาพด้านต่างๆ ต่อไปในอนาคต

ช่วงแรกเกิด – 3 เดือน


พัฒนาการตามวัย:

พัฒนาการทารกช่วง เดือนแรกนี้สิ่งที่ได้รับความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ คือ การเริ่มชันคอได้ ซึ่งจะส่งผลต่อไปสู่พัฒนาการอื่นๆ เริ่มจากการพลิกคว่ำ และยกศีรษะขึ้น เพื่อสำรวจสิ่งต่างๆ รอบตัวในมุมมองใหม่ที่ต่างจากท่านอนหงายในช่วงแรกเกิด ลูกน้อยจะเริ่มสนใจวัตถุที่มีรูปร่างและสีสันต่างๆ กันไป โดยเฉพาะสีสันสดใส มีการตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น เช่น เสียงสิ่งแวดล้อมรอบตัว หรือเสียงของคนใกล้ตัวอย่างคุณพ่อคุณแม่ สามารถตอบสนองต่อการได้ยินด้วยการขยับร่างกาย หรือเปล่งเสียงในลำคอ เริ่มส่งเสียงตอบเมื่อมีคนชวนคุย ยิ้ม หัวเราะ หรือส่งเสียงอ้อแอ้ สนุกกับการเคลื่อนไหวร่างกายไปพร้อมกับเรียนรู้ว่าร่างกายของเขานั้นสามารถทำอะไรได้บ้าง และถือเป็นเรื่องปกติของทารกวัยนี้ที่มือจะอยู่ในท่ากำ


การส่งเสริมพัฒนาการ:

- คุณพ่อคุณแม่ควรหมั่นชวนคุย สบตา ยิ้ม หัวเราะ ร้องเพลง หรือสร้างปฏิสัมพันธ์ที่ดีกับลูกเพื่อพัฒนาสมองและส่งเสริมประสาทสัมผัสด้านต่างๆ ให้มากที่สุด

- ขยับร่างกาย ออกกำลังแขนขา ยืดเหยียดกล้ามเนื้อให้ลูก ฝึกให้ลูกเคลื่อนไหวด้วยตนเอง ฝึกชันคอ โดยมีคุณพ่อคุณแม่คอยดูแลอย่างใกล้ชิด อาจใช้วิธีเขย่าของเล่นที่มีเสียง หรือสีสันสดใส ยกขึ้นลงเหนือศีรษะ เพื่อให้ลูกสนใจเงยหน้ามอง

ไม่ควรใส่ถุงมือให้ลูกตลอด เพื่อฝึกให้ลูกได้บริหารกล้ามเนื้อมัดเล็ก และฝึกประสาทสัมผัสผ่านมือของลูก

- ฝึกให้รู้จักเวลากลางวันกลางคืน เช่น ในเวลากลางคืน พูดคุยเสียงเบา สัมผัสลูกอย่างอ่อนโยน ส่วนช่วงกลางวัน ขณะตื่น ให้เล่นกับลูก ส่งเสียงพูดคุย ทักทาย เรียกชื่อของลูก รวมทั้งควรหยุดรอจังหวะเพื่อให้ลูกส่งเสียงโต้ตอบกลับมาด้วย

ช่วงวัย 3 – 6 เดือน 


พัฒนาการตามวัย:

ลูกน้อยค่อยๆ เริ่มพลิกตะแคง และคว่ำตัวได้ เริ่มสำรวจโลกและทดลองความสามารถของร่างกายตัวเองได้มากขึ้นด้วยการใช้มือและนิ้วเพื่อสัมผัสหยิบจับสิ่งของต่างๆ สามารถมองตามวัตถุจากชิ้นหนึ่งไปยังอีกชิ้นหนึ่งได้ สามารถเปลี่ยนถ่ายวัตถุจากมือหนึ่งไปยังอีกมือหนึ่งได้ สามารถหันตามเสียงเรียกได้ และเริ่มเปล่งเสียงเลียนแบบผู้ใหญ่ได้แบบสั้นๆ ง่ายๆ ไม่มีความหมาย


การส่งเสริมพัฒนาการ:

- กระตุ้นให้ลูกใช้ประสาทสัมผัสต่างๆ มากขึ้นตามความสามารถของลูก

- คุณพ่อควรแม่ควรจัดพื้นที่ปลอดภัยและกว้างขวางพอที่จะให้ลูกได้ฝึกหัดพลิกคว่ำพลิกหงาย คืบคลานได้อย่างอิสระ โดยมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยกระตุ้นความสนใจและดูแลอย่างใกล้ชิด

- พ่อแม่อาจใช้เสียงเรียกหรือของเล่นสีสดใสเพื่อกระตุ้นความสนใจ ให้ลูกพลิกตัวหรือคืบ

- ฝึกทักษะการพูดและฟังกับลูกอย่างมีความหมายมากขึ้น เช่น รู้จักชื่อตัวเอง พูดบรรยายกิจกรรมต่างๆ ที่กำลังทำไปพร้อมกับลูก ไม่ว่าจะเป็นขณะอาบน้ำ แต่งตัว เล่นของเล่น

 

ช่วงวัย 6 – 9 เดือน


พัฒนาการตามวัย:

พัฒนาการด้านร่างกายค่อยๆ พัฒนาขึ้น เริ่มทรงตัวนั่งได้เอง คืบคลานได้เก่งขึ้น เริ่มเกาะยืน เกาะเดิน หรือกระเด้งตัวกระโดดเมื่อคุณพ่อคุณแม่จับยืน กล้ามเนื้อมือเริ่มแข็งแรงและใช้งานได้คล่องขึ้น สามารถหยิบวัตถุจากพื้นได้ มีการตอบสนองต่อการพูดคุยมากขึ้น สามารถออกเสียงซ้ำๆ หรือส่งเสียงเรียกร้องความสนใจจากผู้อื่นได้ เริ่มเรียนรู้อารมณ์ของคนอื่นจากสีหน้าท่าทางและน้ำเสียงได้มากขึ้น  เริ่มทำตามคำสั่งง่ายๆ ได้ เลียนแบบการกระทำ มักจะติดแม่หรือคนเลี้ยง และกลัวคนแปลกหน้า เริ่มมีพัฒนาการที่เกี่ยวข้องกับการรับประทานอาหาร เช่น การเคี้ยวกลืนอาหารบดหยาบ การหยิบจับแก้วน้ำเพื่อดื่มน้ำ เริ่มใช้นิ้วมือหยิบจับอาหาร เป็นต้น แต่ยังทำได้ไม่คล่องมาก


การส่งเสริมพัฒนาการ:

·       ส่งเสริมพัฒนาการด้านร่างกายด้วยการจัดพื้นที่ให้ลูกได้เคลื่อนไหว คืบ คลาน นั่ง เกาะเดินอย่างปลอดภัย ภายใต้การดูแลอย่างใกล้ชิด

- ฝึกให้ลูกใช้มือหยิบจับสิ่งของต่างๆ โดยเลือกสิ่งของที่มีรูปทรง สีสัน ผิวสัมผัสต่างๆ กัน และไม่เป็นอันตราย

- เล่นกับลูกบ่อยๆ เพื่อกระตุ้นให้เขาได้ฝึกใช้ร่างกายและสมอง ขณะเดียวกันก็ต้องฝึกให้ลูกได้เล่นของเล่นของเขาเองตามลำพังด้วย (แต่ยังอยู่ในสายตาของพ่อแม่)

กระตุ้นให้ลูกพูดสื่อสารด้วยการพูดคุยกับลูกบ่อยๆ เรียกชื่อลูก ชวนคุยถึงกิจกรรมที่กำลังทำอยู่ ชวนคุยกับคนอื่นบ้าง ร้องเพลง อ่านหนังสือ เล่นจ๊ะเอ๋

- เตรียมอาหารพร้อมอุปกรณ์และสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้ลูกได้ฝึกใช้มือหยิบอาหาร หรือป้อนอาหารเข้าปากเอง ระมัดระวังอาหารที่อาจทำให้ติดคอ หรือสำลัก เริ่มปลูกฝังวินัยและทัศนคติที่ดีในการรับประทานอาหาร โดยมีคุณพ่อคุณแม่ช่วยดูแลอยู่ใกล้ๆ

ช่วงวัย 9 – 12 เดือน


พัฒนาการตามวัย:

ช่วงวัยนี้ลูกน้อยเริ่มใช้มือและขาได้คล่องแคล่วขึ้น หยิบจับสิ่งของได้คล่องตัว และมักจะสนใจการเกาะยืน หรือเกาะเดิน บางคนสามารถเริ่มเดินได้เองแล้ว แต่บางคนก็ยังไม่พร้อม ให้คุณพ่อคุณแม่ส่งเสริมและกระตุ้นต่อไปไม่ต้องกังวลค่ะ ลูกเริ่มพัฒนาทักษะในการสื่อสารกับผู้อื่น เช่น หันตามเสียงเรียกชื่อ ตอบสนองต่อคำสั่ง หรือคำถามได้ เริ่มรู้จักคุ้นเคยกับสมาชิกในบ้าน สามารถช่วยเหลือตัวเองในการรับประทานอาหารได้มากขึ้น เริ่มรับประทานอาหารครบ มื้อ ทานอาหารบดหยาบมากขึ้น


การส่งเสริมพัฒนาการ:

- ช่วงวัยนี้ลูกเริ่มเคลื่อนไหวร่างกาย และหัดยืนหัดเดิน คุณพ่อคุณแม่ควรจัดพื้นที่และสภาพแวดล้อมที่ปลอดภัยให้กับลูกค่ะ

- ช่วยกระตุ้นการยืนและเดินด้วยกิจกรรมและการเล่นต่างๆ

- ส่งเสริมพัฒนาการด้านการสื่อสารด้วยการฝึกให้ลูกพูด และแสดงท่าทาง เช่น การชี้บอก หรือพูดชื่อต่างๆ หมั่นพูดคุยกับลูกบ่อยๆ ไม่ปล่อยให้ลูกอยู่แต่หน้าจอทีวี แท็บเล็ต หรือมือถือ

- ส่งเสริมให้ลูกมีระเบียบวินัยและช่วยเหลือตัวเองในการรับประทานอาหาร สร้างทัศนคติที่ดีในการรับประทานอาหาร

ช่วงวัย 1 – 3 ปี


พัฒนาการตามวัย:

ในช่วง 1-3 ปีนี้ เด็กๆ จะมีพัฒนาการที่ก้าวกระโดดอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะทักษะของการเคลื่อนไหวร่างกาย การเรียนรู้ศักยภาพของร่างกายตัวเอง และความสามารถในการหยิบจับวัตถุ เป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นสำหรับลูกน้อยที่ได้สำรวจโลกรอบตัวและเริ่มมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และมีพัฒนาการทางภาษามากขึ้นสามารถบอกความต้องการของตัวเองได้บ้าง และโต้ตอบสื่อสารกับผู้อื่นได้แบบสั้นๆ ง่ายๆ


การส่งเสริมพัฒนาการ:

- คุณพ่อคุณแม่ควรส่งเสริมให้ลูกน้อยได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตประจำวันด้วยตัวเอง เช่น การถอดและใส่เสื้อผ้า การอาบน้ำแปรงฟัน การดูแลตัวเองง่ายๆ เช่น การหวีผม หยิบจับและป้อนอาหารเข้าปาก ล้างมือให้สะอาด

- กระตุ้นการเคลื่อนไหวและการทรงตัวด้วยกิจกรรมต่างๆ เช่น ลากจูงสิ่งของ ขี่จักรยานสามล้อ จูงเดินขึ้นลงบันได ฝึกให้ขึ้นลงบันไดได้ด้วยตัวเองอย่างปลอดภัย

ส่งเสริมด้านการใช้กล้ามเนื้อมัดเล็กและสติปัญญา ด้วยกิจกรรมขีดเขียนระบายสี ด้วยดินสอสี หรือสีเทียน

- ฝึกพัฒนาการทางภาษาด้วยการเริ่มจากฟังและทำตามคำสั่ง เช่น หันตามการเรียกชื่อ หยิบสิ่งของตามที่บอก หมั่นถามคำถามเพื่อกระตุ้นให้ลูกตอบ ชวนพูดคุย เล่านิทานอ่านหนังสือให้ลูกฟัง เชื่อมโยงคําถามเกี่ยวกับเรื่องราวในนิทานให้ลูกตอบพยายามพูดคํา คําให้ลูกฟัง เช่น แม่ไป กินข้าว ไม่เอา เป็นต้น ร้องเพลงเด็กที่ใช้คําพูดง่ายๆ ให้ลูกฟังบ่อยๆ พร้อมทําท่าทางประกอบ เช่น เพลงจับปูดำ 

- สอนชื่ออวัยวะส่วนต่างๆ ของร่างกาย และชี้ถามให้ลูกบอกชื่ออวัยวะของตนเองทีละส่วน สอนให้ลูกรู้จักการตอบรับหรือปฏิเสธ เช่น เอานมไหม เล่นรถไหม เล่นเครื่องบินไหม ไปเที่ยวไหม กินข้าวไหม กินขนมไหม

- เริ่มฝึกสอนให้เข้าห้องน้ำได้ด้วยตัวเอง ฝึกให้บอกได้เมื่อปวดฉี่หรือปวดอึ

พัฒนาการของลูกน้อยในช่วงสามปีแรกนั้น มีเรื่องราวมากมายให้คุณพ่อคุณแม่ได้ทึ่งระคนแปลกใจกันแทบทุกวันเลยล่ะค่ะ สมาชิกตัวจิ๋วของเรากำลังเริ่มต้นเรียนรู้โลกใบใหม่ของเขา โดยการเรียนรู้นั้นเกิดจากประสาทสัมผัสต่างๆ ได้แก่ การมองเห็น การได้ยิน และการสัมผัส รวมถึงการเรียนรู้วิธีควบคุมการเคลื่อนไหวร่างกาย การทรงตัว ชันคอ คว่ำ คืบ คลาน นั่ง ยืน เดิน วิ่ง และค่อยๆ เรียนรู้วิธีการสื่อสารกับผู้คนรอบตัว ตั้งแต่การใช้ภาษามือ การเลียนแบบเสียง การพูดคำสั้นๆ ไปจนถึงพูดสนทนาโต้ตอบได้ ถือว่าเป็นช่วงที่สำคัญมากสำหรับการปูพื้นฐานพัฒนาการด้านต่างๆ ต่อไปในอนาคตที่คุณพ่อคุณพ่อควรส่งเสริมกันอย่างสม่ำเสมอนะคะ  



Share this article...
0
0
0
บริษัท อะมอร์เบบี้ จํากัด
898/98 ถ.หทัยราษฎร์
แขวงบางชัน เขตคลองสามวา
กรุงเทพฯ 10510
Tel : 066-159-2995
Email : amorbabythailand@gmail.com
Follow Us:
0

ตะกร้าของฉัน

สินค้าทั้งหมด
0 รายการ
จำนวนเงิน
0 Bht.
Top
หน้าแรก สินค้า ตะกร้าสินค้า 0 บัญชีของฉัน